The Great Gatsby จากวรรณกรรมคลาสสิกสู่ภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความหวังอันยิ่งใหญ่และหัวใจที่มั่นคง

เดิมที The Great Gatsby เป็นงานเขียนของ เอฟ.สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F.Scott Fitzgerald) นักเขียนอเมริกันซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกับเฮมมิงเวย์ ซึ่ง The Great Gatsby ถูกกล่าวถึงในนิยายของนักเขียนดัง ๆ หลายคน อาทิ Haruki Murakami และ J. D. Salinger

เริ่มจาก Haruki Murakami นักเขียนญี่ปุ่นชื่อดังที่มีแฟนนิยายอยู่ทั่วโลก ในนิยายเรื่อง Norwegian Wood หรือ ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย พระเอกของเรื่องชื่อวาตานาเบะ เขาอ่าน The Great Gatsby หลายรอบมาก จนทำให้นากาซาวา เพื่อนนักศึกษาผู้ร่ำรวยและมีโลกส่วนตัวสูงซึ่งคลั่งไคล้นิยายเรื่องนี้อยู่ เกิดสนใจวาตานาเบะและกลายเป็นเพื่อนรักกัน และคนอ่านหนังสือของมูราคามิก็สัมผัสได้ว่า เขาเองก็ต้องรักหนังสือเรื่องนี้มากเหมือนกัน ส่วน J. D. Salinger นักเขียนอเมริกันที่มีความอินดี้และมีสำนวนการเขียนแบบกวนที่สุดคนหนึ่ง เขาเขียนนิยายเรื่อง the Catcher in the Rye หรือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น โดยพระเอกของเรื่องที่เป็นวัยรุ่นอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังค้นหาตัวเองและค้นหาความหมายของชีวิต และด้วยความที่เขามีความคิดแบบสุดโต่ง มีความกวน ๆ อย่างมีสไตล์ มีเอกลักษณ์แบบแปลก ๆ แต่มันมีเสน่ห์ เลยค่อนข้างคล้อยตามเมื่อเขาบอกว่าชอบหนังสือ The Great Gatsby เพราะเป็นหนังสือที่อ่านจบแล้ว เกิดความรู้สึกอยากเป็นเพื่อนสนิทกับนักเขียน

มาถึงเรื่อง The Great Gatsby บ้าง หนังสือเล่าเรื่องของ เจย์ แก็ตสบี้ เศรษฐีใหม่ เปิดบ้านจัดงานเลี้ยงทุกสัปดาห์ เพื่อให้ผู้หญิงที่เขารัก มาร่วมงานเลี้ยงซักครั้ง หนังสือเล่าผ่านมุมมองของนิค เพื่อนสนิทของแก็ตสบี้ เรื่องราวส่วนใหญ่สะท้อนความเป็นอเมริกันในยุควัตถุนิยม เห็นเงินเป็นพระเจ้า ผู้คนใฝ่ฝันการใช้ชีวิตที่หรูหรา แต่แก็ตส์บี้นั้น คือคนที่พยายามต่อสู้กับชีวิตที่ลำบากจนร่ำรวย เพื่อที่จะได้กลับมาพบรักกับเดซี่ซึ่งเป็นรักแรกของเขาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่ม ด้วยความรักอันมั่นคงแก็ตส์บี้พยายามที่จะตามหาและสร้างสถานการณ์ให้ได้พบกับเดซี่ แต่หล่อนนั้นกลายเป็นภรรยาคนอื่นไปแล้ว เรื่องราวในหนังสือนั้นยุ่งเหยิง พัวพันกับความคิดของตัวละครที่แวดล้อมอยู่รอบนิค (นิคเป็นคนเล่าเรื่อง) พฤติกรรมของแก็ตส์บี้ที่นิคเล่าให้เราฟังนั้นเป็นเพียงมุมมองของนิค เราจะสงสัยลึก ๆ ว่าแท้จริงแล้วแก็ตส์บี้คิดและรู้สึกอะไรอยู่กันแน่ แต่เมื่อท้ายสุดคนอ่านได้รู้ว่าแก็ตส์บี้ไว้ใจนิคคนเดียว และนิคก็เป็นเพื่อนแท้เพียงคนเดียว เราเลยเชื่อใจกับสิ่งที่นิคบอกเล่าออกมา ต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่ผู้ชายอ่านแล้วชอบ อาจเป็นเพราะความเข้าอกเข้าใจกันในแบบผู้ชาย ที่คนอ่านมีต่อไอ้แก็สต์บี้เพื่อนยาก ผู้น่าสงสารตลอดกาล และเมื่อนิยายถูกหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์ในชื่อ The Great Gatsby ก็สามารถรักษาแบบแผนความคิดของนักเขียนไว้ได้อย่างไม่ตกหล่น (ภาพยนตร์ออกฉายในปี 2012 ได้ Leonardo DiCaprio มาแสดงเป็นแก็สต์บี้)

ภาพยนตร์ได้ ตอกย้ำสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นวัตถุนิยม และยังตอกย้ำแง่มุมเรื่องการเห็นคุณค่าของตัวเอง ในตอนท้ายเราได้เห็นว่าวัตถุนิยมคือความไร้ค่าโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับความหมายแท้จริงของชีวิต และที่สำคัญคือ ไม่มีใครกำหนดคุณค่าของเราได้นอกจากเราเอง