ประเภทโรงหนัง จากอดีตสู่อนาคต

ลิโด้ สกาล่า ธนบุรีรามา นครนนท์รามา เมเจอร์ เอสเอฟ โรงภาพยนตร์เหล่านี้บางแห่งยังเปิดให้บริการอยู่ บางแห่งกำลังจะปิดตัวลง และบางแห่งกลายเป็นเพียงตำนานเหลือแค่ชื่อและความทรงจำสำหรับผู้ใช้บริการบางท่านเท่านั้น ไม่มากก็น้อยหลายคนคงเคยเดินเข้าไปใช้บริการโรงภาพยนตร์อย่างแน่นอนต่างแต่ว่ามากน้อยไม่เท่ากันเท่านั้น แต่มีใครเคยสงสัยหรือไม่ว่าโรงภาพยนตร์เหล่านี้ที่ได้ไล่เลียงชื่อมามีความแตกต่างกันที่ตรงไหนบ้าง บางคนอาจไม่เคยใส่ใจมาก่อนเพราะโรงหนังก็เป็นโรงหนังดูหนังได้เหมือนกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าความแตกต่างนี้มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด
อันดับแรกแรกกับว่าเราควรมาพูดถึงโรงภาพยนตร์แบบ “Stand Alone” หรือ “โรงหนังเดี่ยว” กันก่อนดีกว่า แม้จะถูกเรียกว่าโรงหนังเดี่ยวเพราะสมัยก่อนโรงหนังที่สามารถฉายภาพยนตร์ได้มักมีเพียงแห่งเดียวในแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ สังเกตได้ง่ายๆ จากการที่โรงภาพยนตร์ประเภทนี้มักมีคำว่า “รามา” ต่อท้าย ไม่ว่าจะเป็น ธนบุรีรามา นครนนท์รามา ตรังรามา เป็นต้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปคนไทยเรียกก็พากันหันมาเรียกแบบติดปากว่า “โรงหนังชั้นสอง” แทน โรงภาพยนตร์ประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนในยุคที่การฉายหนังยังเป็นการใช้แผ่นฟิล์มอยู่ ไม่มีระบบดิจิตัล ไม่มีการฉายตัวอย่างภาพยนตร์ ไม่มีการฉายโฆษณา และสามารถจุผู้ชมได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามด้วยกระแสความนิยมในสมัยก่อน

ต่างจากปัจจุบันนี้ส่งผลให้การจะหาผู้ที่เข้ามาชมภาพยนตร์ตามโรงหนังชั้นสองนี้เป็นอะไรที่หาได้ยากยิ่ง ไม่นับว่าภาพยนตร์ในยุคหลังส่วนใหญ่ยังผลิตออกมาเป็นรูปแบบดิจิตัลกันหมดแล้ว ต้นทุนที่สูงขึ้นก็ทำให้โรงหนังชั้นสองส่วนมากไม่สามารถปรับตัวได้ จนต้องปิดตัวลงไปตามๆ กันทิ้งไว้เพียงความทรงจำของคนรุ่นเก่าที่มีความผูกพันธ์กับโรงหนังชั้นสองใกล้บ้านที่ตั้งตระหง่านให้ผู้คนเข้าไปใช้บริการกันอย่างคับคั่ง ร้ายที่สุดคือโรงหนังชั้นสองบางแห่งได้ถูกขายต่อออกไปเพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานบันเทิงอื่นที่มีความทันสมัยกว่าด้วยว่าพื้นที่ตั้งโรงหนังส่วนมากมักอยู๋ใจกลางชุมชนนั่นเอง ไม่นับว่าตัวเจ้าของเองก็คงไม่สามารถนำพาโรงหนังคร่ำครึไร้วี่แววลูกค้าเข้ามาแวะเวียนเหมือนอย่างอดีตให้กลับมารุ่งโรจน์

อย่างเก่า หากใครมีโอกาส โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ก็อยากให้ลองไปเสาะแสวงหาโรงหนังเก่าๆ เหล่านี้ดู เพราะมีไม่น้อยทีเดียวที่เปลี่ยนไปเปิดบริการเป็นพิพิธภัณฑ์ ไปดูเถอะว่าสมัยพ่อแม่ปู่ย่าเรามาเดทกัน เขาดูหนังกันแบบไหนยังไง มันคือความโรแมนติคอันคลาสสิคที่เราคงไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสกันนัก ที่ยังเปิดให้บริการอยู่หลักๆ คือ สกาล่า ที่อยู่ตรงสยาม
ต่อมาเป็นโรงภาพยนตร์ประเภท “Mini Theatre” ที่คนไทยก็เรียกกันทับศัพท์ไปเลยนี่แหละ โรงประเภทนี้จะต่อยอดมาจากโรงหนังชั้นสองอีกที ด้วยว่ายุคสมัยต่อมาคือการผุดขึ้นของห้างสรรพสินค้า ทำให้หลายแห่งต้องมีการเปิกโรงภาพยนตร์ขึ้นเพื่อเป็นการเรียกลูกค้าให้มาเดินเที่ยวดูหนัง ส่วนใหญ่ก็จะมีราว 2-3 โรงเท่านั้น (ยังไม่เยอะนัก ถ้ามี 10 กว่าโรงก็จะกลายเป็นแบบ Multiplex/Cineplex ไป) และมีจุดเด่นอยู่ที่ค่าตั๋วที่ถูกกว่าปกติ รวมไปถึงราคาของกินเล่นระหว่างดูหนังด้วย แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นโรงหนังที่ค่อนข้างมีความแออัดพอสมควรเพราะมีขนาดที่ไม่ได้กว้างใหญ่มาก ที่ยังเห็นอยู่ชัดๆ คือ ลิโด้ ย่านสยามเช่นกัน (เอาจริงๆ ก็อยู่ติดกันกับสกาล่าเลยล่ะ)
ประเภทสุดท้ายคือ Multiplex/Cineplex ที่คนไทยก็เรียกทับศัพท์เช่นกัน ประเภทนี้คืออุตสาหกรรมการฉายภาพยนตร์เต็มรูปแบบ ที่มีมากกว่า 10 โรงขึ้นไปต่อหนึ่งแห่ง มักมีขนาดที่กว้างพอสมควรและมีความสบายมากกว่า รวมไปถึงองค์ประกอบการฉายภาพยนตร์ที่ครบครัน ทั้งภาพเสียงคมชัด ไม่นับที่ว่าบางแห่งมีไปถึงแบบ 3 มิติ 4 มิติกันแล้ว พวกนี้ก็มักตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าไหนได้พื้นที่ของที่ไหนไป ราคาของโรงแบบนี้ค่อนข้างสูง แน่นอนว่ารวมถึงของกินด้วย ที่ครองตลาดการฉายอยู่คือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เอสเอฟซีนีม่า และอีจีวี ใครที่ดูหนังบ่อยน่าจะเข้าใจความต่างราคาของสามเจ้านี้ดีนะ
นอกเหนือไปจากเรื่องราคาแล้ว ความต่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดของโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 ประเภทคือ ‘บรรยากาศ’ คนสมัยก่อนจะมีความผูกพันธ์กับโรงหนังมากเพราะการฉายยังมีความลำบากอยู่บ้าง ไม่นับว่าโรงหนังเป็นแหล่งพบปะของหนุ่มสาวที่มีความคลาสสิคสูงมาก ทว่าโรงหนังที่เหลือในยุคของเราๆ นั้นก็เหลือแต่เพียงมินิเธียเตอร์เป็นส่วนน้อย และซีนีเพล็กซ์เป็นส่วนมาก ความทันสมัยของมันลดความคลาสสิค ความน่าจดจำของบรรยากาศบางอย่างไป ผู้คนให้มีความทรงจำต่อโรงหนังน้อยลง ส่วนใหญ่ก็จำได้แต่ว่าหนังที่ดูไปเป็นเรื่องอะไรเท่านั้น หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการอนุรักษ์การดูหนังแบบเก่าๆ ไว้ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้เข้าใจว่าคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเคยมีความทรงจำที่ดีแค่ไหนในการรับชมภาพยนตร์